+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  สมอไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์  Terminalia chebula Retz.
ชื่อสามัญ  Chebulic Myrobalans, Myrolan Wood
ชื่อท้องถิ่น  สมอ (นครราชสีมา), ม่าแน่ (เชียงใหม่), สมอไทย สมออัพยา (ภาคกลาง), หมากแน่ะ (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 20-30 เมตร เรือนยอดกลมกว้าง เปลือกต้นขรุขระ สีเทาอมดำ เปลือกในสีเหลืองอ่อน เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีแดง กิ่งอ่อนสีเหลืองหรือสีเหลืองแกมน้ำตาล มีขนคล้ายไหม เปลือกแตกเป็นสะเก็ดห่างๆ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
- ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปรีกว้าง กว้าง 5-10 ซม. ยาว 11-18 ซม.ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนกลมหรือกึ่งตัด หรือบางครั้งเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนเป็นเงามันมีขนเล็กน้อย ผิวด้านล่างมีขนคล้ายไหมถึงขนสั้นหนานุ่ม เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ ข้างละ 5-8 เส้น ก้านใบยาว 1.5-3 ซม. มีขนคล้ายไหม มีต่อม 1 คู่ ใกล้โคนใบ
- ดอก ช่อคล้ายช่อเชิงลดหรือช่อแยกแขนง มี 3-5 ช่อ สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มักจะออกพร้อมๆกับใบอ่อน ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว 5-8.5 ซม. ไม่มีก้านช่อดอก หรือก้านช่อดอกสั้น แกนกลางสั้นและเปราะ มีขนสั้นนุ่ม ดอกสมบูรณ์เพศขนาดเล็ก 0.3-0.4 ซม. ไม่มีกลีบดอก ส่วนบนเป็นรูปถ้วยตื้นมีขนคลุมด้านนอก ใบประดับรูปแถบ ยาว 3.5-4 มม. ปลายแหลม มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวอมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก เกลี้ยง รูปคล้ายสามเหลี่ยม เกสรเพศผู้มี 10 อัน ยื่นพ้นหลอดกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณู ยาว 3-3.5 มม. เกลี้ยง จานฐานดอกมีขน เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 2-3.5 มม. รังไข่เกลี้ยง หมอนรองดอกมีพูและขนหนาแน่น
- ผล ผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือเกือบกลม กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. ผิวเกลี้ยง หรือมีสันตื้น ๆ ตามยาว 5 สัน เมื่อแก่สีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวปนน้ำตาลแดง
- เมล็ด แข็ง มี 1 เมล็ด รูปยาวรี ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ติดผลราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือพบตามทุ่งหญ้า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง ประมาณ 1,000 เมตร
สรรพคุณทางยา  1. ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย
2. ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยฟอกโลหิต
3. ช่วยระงับประสาท ทำให้นอนหลับสบาย แก้อาการนอนสะดุ้ง
4. ใช้รักษาโรคฟันและเหงือกที่เป็นแผล สมานแผลในช่องปาก
5. ช่วยแก้ไข้ แก้เจ็บคอ แก้อาการไอ ช่วยขับเสมหะ
6. ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการท้องเสีย ขับลมในลำไส้แก้ลม แก้อาการบิด
7. ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร
8. ช่วยแก้ประจำเดือนไม่ปกติ
9. รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
10. ช่วยแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ
11. ใช้รักษาแผลเรื้อรัง ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
การนำไปใช้ประโยชน์  - ลูกสมอ ประโยชน์ผลดิบใช้รับประทานเป็นผลไม้สด หรือนำไปดองเกลือ ส่วนผลห่ามสามารถนำไปจิ้มน้ำพริกรับประทานได้ และยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังและใช้ทำหมึก ใบแก่นำมาต้มย่อมผ้าได้โดยจะให้สีเหลืองอมน้ำตาล และใบอ่อนให้สีเขียวขี้ม้า
อ้างอิง  เมดไทย. (2563) สมอไทย. สืบค้น 27 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/สมอไทย/ คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2553). ฐานข้อมูลสมุนไพร : สมอไทย สืบค้น 27 มีนาคม 2565, จาก http://www.phargarden.com Disthai. (2560) การนำสมอไทยไปใช้ปะโยชน์. สืบค้น 27 มีนาคม 2565, จาก https://www.disthai.com
ไฟล์